ITA

ม.ทักษิณ เปิดตัวโครงการวิจัย “กริชสกุลช่างสงขลา : การสร้างคุณค่าและการจัดการทุนทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน”

   2 เม.ย. 66  /   437

ม.ทักษิณ เปิดตัวโครงการวิจัย “กริชสกุลช่างสงขลา : การสร้างคุณค่าและการจัดการทุนทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน”

******************************

วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดพิธีเปิดตัวโครงการวิจัย เรื่อง “กริชสกุลช่างสงขลา : การสร้างคุณค่าและการจัดการทุนทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุมบ้านซูซูกิ อาคารพาไลพัฒนา สถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ภายใต้กรอบวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นหัวหน้าโครงการและนำทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการในพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถช่างตีกริชและผู้สืบทอดวัฒนธรรมกริช สร้างมูลค่าจากทุนวัฒนธรรมกริชผ่านการมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีหลักในพื้นที่และพัฒนากลไกการตลาดในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก Mr. Suargana Pringganu Consul/Head of Mission, Consulate of the Republic of Indonesia in Songkhla ปาฐกถา เรื่อง “วัฒนธรรมกริชในอินโดนีเซีย”

และ Mr. Muhammad Ridzuan bin Abu Yazid Consul General, Consulate General of Malaysia ปาฐกถา เรื่อง “วัฒนธรรมกริชในมาเลเซีย”

ต่อด้วยการเสวนา เรื่อง “กริชและศาสตราวุธ ศาสตราภรณ์ในภาคใต้”

โดย

1. พระสุรศักดิ์ กิตฺติภัทโท (วัดคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา)

2. ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช (อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ)

3. อ.ปริญญา สัญญะเดช (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ)

4. นายอรุณ แก้วสัตยา (นายโรงโนรา ผู้ใช้กริชในพิธีกรรม)

5. อ.บุญเลิศ จันทระ (สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ)

ดำเนินรายการโดย นายธีระ จันทิปะ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดง“รำกริชสุหรานากง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรวรรณ โภชนาธาร คณศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นชื่อที่เรียกตามตัวละคร “ระเด่นสุหรานากง” องค์รัชทายาทของท้าวสิงหัดส่าหรี กษัตริย์ในวงศ์เทวัญ จากบทละคร เรื่องอิเหนา การรำกริชเป็นกระบวนรำอาวุธอยู่ในตอน “ท้าวดาหาบวงสรวง” สุหรานากงได้ตามเสด็จขบวนท้าวดาหา เพื่อไปบวงสรวงองค์ปะตาระกาหลาหลังชนะศึกท้าวกระหมังกุหนิง สุหรานากงได้ทำการรำกริชเพื่อบวงสรวงองค์ปะตาระกาหลาในตอนนี้ด้วย กระบวนท่ารำกริชสุหรานากงได้รับถ่ายทอดจากหม่อมครูแย้ม หม่อมละครในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในรัชกาลที่ 2 สืบทอดต่อๆ กันมาถึงปัจจุบัน จัดเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน และพิเศษสุดในโชว์กริชจากนักสะสมกริช, โชว์กริชจากพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา

กิจกรรมในวันนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสเปิดตัวโครงการวิจัยและร่วมกันปลุกตำนานวัฒนธรรมกริช และเรื่องราวของกริชที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นรวมตัวกันครั้งยิ่งใหญ่จากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และนักสะสมกริชระดับตำนาน นักวิชาการ นักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคีเครือข่ายวัฒนธรรมกริช ทั้งกลุ่มช่าง และผู้ประกอบการกริช ตลอดจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่แห่งดินแดนที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมกริชมาอย่างยาวนาน ทั้งในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่ยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าและการจัดการทุนทางวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป